Posted by admin on มกราคม 12, 2010

โลกร้อน ความจริงที่ทุกคนต้องรู้

๑. สาเหตุของการเกิดโลกร้อนคืออะไร

เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกยังไม่มีความเข้มข้นมากนัก คลื่นความร้อนจึงสะท้อนออกนอกโลกได้มาก กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทำให้ก๊าซเรือนกระจก ในชั้นบรรยากาศของโลกมีความเข้มข้นขึ้น คลื่นความร้อนจึงสะสมอยู่บริเวณพื้นผิวโลก

ภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งพูดกันหรือเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่ปัญหาโลกร้อนได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว นับแต่ที่มนุษย์เริ่มรู้จักเครื่องจักรไอน้ำและนำเอาเชื้อเพลิงฟอสซิล อันได้แก่ ถ่านหิน และน้ำมัน ขึ้นมาใช้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้น บรรยากาศในปริมาณมากโดยน้ำมือของมนุษย์

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำนายไว้เมื่อราวศตวรรษก่อนกำลังเป็นความจริงแล้วในปัจจุบัน

ประมาณปี ค.ศ. ๑๘๙๐ Svante Arrhenius นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศกับ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลก และพบว่า หากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกลดลงครึ่งหนึ่ง จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกลดลงถึง ๕ องศาเซลเซียส

ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรม มีการปล่อยก๊าซต่างๆ ขึ้นสู่อากาศมากขึ้น Svante ทำนายว่าในอนาคตโลกจะร้อนขึ้น จากการเผาไหม้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ภาวะเรือนกระจก

ภาวะเรือนกระจก ก็คล้ายกับการที่เราสร้างเรือนกระจกกลางแจ้ง แสงแดดสามารถผ่านเข้ามาในเรือนกระจก แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นไม่สามารถระบายออกข้างนอกได้ ทำให้อุณหภูมิภายในเรือนกระจกสูงขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันโลกสีน้ำเงินใบนี้ ก็ไม่ต่างจากเรือนกระจก

โดยปรกติชั้นบรรยากาศของโลกจะประกอบด้วยก๊าซชนิดต่างๆ และไอน้ำ เมื่อรังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามายังพื้นผิวโลก มันจะถูกดูดกลืนไว้ด้วยพื้นน้ำ พื้นดิน พืช และสัตว์ หลังจากนั้นก็จะคายออกมาเป็นพลังงานในรูปของรังสีคลื่นยาวอินฟราเรด ซึ่งเป็นคลื่นความร้อน กลับขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและบางส่วนก็ถูกกักเก็บไว้โดยก๊าซในชั้นบรรยากาศที่ ห่อหุ้มโลก ดังนั้นที่ผ่านมาโลกของเราจึงสามารถรักษาอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสม ไม่ร้อนจัดเหมือนดาวศุกร์ หรือเย็นจัดอย่างดาวอังคาร

แต่ปัจจุบันชั้นบรรยากาศของโลกไม่ได้อยู่ในภาวะปรกติอีกต่อไป

ชั้นบรรยากาศถือได้ว่าเป็นส่วนที่อ่อนไหวที่สุดในระบบนิเวศของโลกใบนี้

คาร์ล ซาแกน (Carl Sagan) นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกคนหนึ่งเคยกล่าวว่า “หากคุณเอาน้ำยาขัดเงามาทาลูกโลก ความหนาของชั้นน้ำยาก็เปรียบได้กับชั้นบรรยากาศเมื่อเทียบกับขนาดของโลก”

ทุกวันนี้ชั้นบรรยากาศของโลกถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ก๊าซเรือนกระจกนั้นประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก รวมถึงก๊าซมีเทน ก๊าซซีเอฟซี ก๊าซโอโซน ฯลฯ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีในการดูดกลืนและเก็บกักรังสีอินฟราเรด ดังนั้นรังสีอินฟราเรดที่ควรจะสะท้อนออกนอกโลก ก็จะถูกเก็บกักสะสมไว้ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้พื้นผิวโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ

ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเราว่า

“ปัญหาเรื่องภาวะเรือนกระจกก็คือ ก๊าซเรือนกระจกมันไม่ได้หนาขึ้น แต่มันเข้มข้นมากขึ้น สาเหตุหลักคือธาตุคาร์บอนที่เคยสะสมอยู่ในรูปของน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งควรจะอยู่ในที่ของมันในแผ่นดิน แต่เราเอามาเผาเพื่อนำพลังงานมาใช้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตามธรรมชาติถ้าเราให้เวลามันนานเพียงพอ กระบวนการตามธรรมชาติในโลกจะค่อยๆ ดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกลับออกไป แต่ตอนนี้เราขุดคาร์บอนขึ้นมาเผาวันละ ๘๐ ล้านบาร์เรล มันเร็วเกินกว่าที่กระบวนการตามธรรมชาติจะกำจัดออกไปได้ มันก็สะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้นจนทำให้ภาวะเรือนกระจกในปัจจุบันมีความ รุนแรงมากเกินกว่าสภาพตามธรรมชาติ”

๒. นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ก๊าซเรือนกระจกยังประกอบด้วยอะไรบ้าง

ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซที่สำคัญ คือ

๕๓ % ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (๓๘๐ ppm)
ทุกวันนี้ในชั้นบรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ๓๘๐ โมเลกุลในทุกๆ ๑ ล้านโมเลกุลของมวลอากาศ หรือ ๓๘๐ ppm (parts per million) และมีการเพิ่มขึ้นประมาณปีละ ๑ เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับราว ๑๐๐ ปีก่อน ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ระดับความเข้มของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ประมาณ ๒๘๐ ppm นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ในอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีการแก้ไขหรือชะลอการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ ๑,๐๐๐ ppm ซึ่งเป็นการเพิ่มในอัตราที่เร็วกว่าที่ผ่านมาอย่างมาก

สาเหตุที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในชั้นบรรยากาศนั้น นอกจากว่ามาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การตัดไม้ทำลายป่าและเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร เนื่องจากต้นไม้มีคุณสมบัติที่ดีในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ลอย ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อพื้นที่ป่าลดน้อยลง ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจึงสูงขึ้น และการเผาป่ายังทำให้ซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ในดินถูกทำลายกลายเป็นก๊าซชนิด นี้เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศด้วย

เมื่อ ๑๐ ปีก่อน b นักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และอุณหภูมิของโลกย้อนกลับ ไปเมื่อ ๖๕๐,๐๐๐ ปีก่อน โดยวิเคราะห์จากแท่งน้ำแข็งที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวโลก และได้ข้อสรุปว่าอุณหภูมิของโลกมีความสัมพันธ์กับปริมาณก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เมื่อช่วงเวลาใดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก อุณหภูมิของโลกก็จะสูงขึ้นด้วย

แต่ที่น่าตกใจก็คือ ตลอดระยะเวลา ๖๕๐,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ไม่มีช่วงใดเลยที่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์พุ่งขึ้นสูงเกินระดับ ๓๐๐ ppm เหมือนในปัจจุบัน

อันที่จริงอย่าเพิ่งมองว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผู้ร้ายเสมอไป เพราะหากโลกนี้ขาดก๊าซชนิดนี้แล้ว พืชก็คงไม่สามารถสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารให้แก่มวลมนุษยชาติได้ เพียงแต่ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ผลิตขึ้นมามีมากเกินไป และเกินกว่าที่กระบวนการตามธรรมชาติจะกำจัดได้

๑๗ % ก๊าซมีเทน (๑.๘ ppm)
เป็นก๊าซที่เกิดจากปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ และการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล แม้ว่าก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศจะมีเพียงเล็กน้อย แต่โมเลกุลของก๊าซมีเทนสามารถดูดกลืนรังสีความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ถึง ๒๕ เท่า

ปัญหาการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศได้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ระหว่างประเทศด้วย กล่าวคือที่ผ่านมาเวลามีการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยปัญหาภาวะเรือนกระจก ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ในปริมาณมาก จะพยายามยกประเด็นว่าประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม ก็ปลดปล่อยก๊าซมีเทนมากด้วยเช่นกัน โดยยกตัวอย่างการปลูกข้าวแบบให้น้ำท่วมขังเพื่อเป็นการควบคุมวัชพืช ซึ่งจะทำให้ดินขาดออกซิเจน แบคทีเรียบางชนิดจึงผลิตก๊าซมีเทนมากขึ้น และเนื่องจากก๊าซมีเทนสามารถเก็บกักความร้อนได้ดีกว่า ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วจึงพยายามกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาร่วมรับผิดชอบด้วย ในระดับหนึ่ง

๑๓ % ก๊าซโอโซนระดับผิวโลก (๐.๐๓ ppm)
เมื่ออยู่ในชั้นบรรยากาศสูงๆ ก๊าซโอโซนจะช่วยปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลต แต่โอโซนที่อยู่ในระดับผิวโลกจะทำหน้าที่เป็นสารออกซิแดนท์ซึ่งจะทำ ปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ถือได้ว่าเป็นก๊าซโอโซนที่แม้จะอยู่ในบรรยากาศของโลกเพียงเล็กน้อย แต่มีความสามารถในการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด ทำให้โลกอบอุ่นขึ้นด้วย

๑๒ % ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (๐.๓ ppm)
โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเส้นใยไนลอน อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก ใช้กรดไนตริกในกระบวนการผลิต จะปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้ในการทำการเกษตร และแม้ว่าในธรรมชาติจะมีการปล่อยก๊าซชนิดนี้ออกมา แต่ก๊าซไนตรัสออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความร้อนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น

๕ % ก๊าซซีเอฟซี (๑ ppm)
ก๊าซชนิดนี้เป็นก๊าซที่มีสารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอน มีใช้อยู่ในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น สเปรย์ น้ำยาดับเพลิง ฯลฯ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดรูโหว่ของโอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตส่องลงมาถึงพื้นโลกได้มากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันทั่วโลกได้รณรงค์ลดการปล่อยก๊าซซีเอฟซีลงได้ถึง ๔๐ % แต่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศก็มีส่วนในการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด จนเกิดความร้อนสะสมขึ้นประมาณ ๐.๒๘ วัตต์/ตารางเมตร

๓. ใครคือผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“มีพยานหลักฐานใหม่ๆ ยืนยันได้ว่า ภาวะโลกร้อนขึ้นในรอบ ๕๐ ปี ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์”
IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change)

ในปี ค.ศ. ๒๐๐๗ IPCC หรือคณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์กว่า ๒,๕๐๐ คนจากทั่วโลก มารวมตัวกันเพื่อทำงานสืบหาข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ได้รายงานว่า มีความเป็นไปได้สูงกว่าร้อยละ ๙๐ ว่าการกระทำของมนุษย์ อาทิการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้นในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันบรรยากาศของโลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ๓ ล้านล้านตัน และมนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศปีละ ๒๖,๐๐๐ ล้านตัน ขณะที่เมื่อทศวรรษ ๑๙๗๐ มนุษย์ปล่อยก๊าซชนิดนี้เพียงปีละ ๑๕,๐๐๐ ล้านตัน โดยกิจกรรมของมนุษย์ที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ประกอบด้วย

โรงงานอุตสาหกรรม ประมาณ ๔๐ %
ความเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดการใช้เชื้อเพลิง และไฟฟ้า ปัจจุบันประเทศจีนและอินเดียที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวด เร็ว ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น ไม่ต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป

อาคาร สำนักงาน ศูนย์การค้า บ้านพักอาศัย ประมาณ ๓๑ %
รวมถึงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของคนในเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น

การขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ประมาณ ๒๒ %
ทุกวันนี้มนุษย์เดินทางโดยอาศัยยานพาหนะมากขึ้น ความต้องการในการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นปีละ ๒ % และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าอีก ๑๕ ปีข้างหน้า โลกจะมีรถยนต์ทั้งสิ้นรวม ๗๐๐ ล้านคัน

และนับแต่ที่มีสายการบินต้นทุนต่ำ ประชาชนทั่วโลกจึงนิยมเดินทางโดยเครื่องบินกันมากขึ้น ยังไม่นับไปถึงว่าสายการบินทั่วโลกกำลังมีแผนการขยายเส้นทางการบินให้เชื่อม ถึงกันทั่วทุกประเทศในอนาคต ซึ่งการเผาผลาญพลังงานของเครื่องบินจะทำให้เกิดก๊าซมลพิษบนท้องฟ้ามากขึ้น และยังไปทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศให้มีปริมาณลดลง

การเกษตรกรรม ประมาณ ๔%
สถาบันวิจัยป่าแอมะซอนของบราซิลรายงานว่า ผลจากการเผาป่าแอมะซอนหลายสิบล้านไร่ในแต่ละปีเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่การ เกษตร ได้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า ๔ เท่าของปริมาณก๊าซชนิดนี้ที่เกิดจากการเผาน้ำมันของชาวบราซิลเพื่อใช้เป็น พลังงาน

๔. ประเทศใดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด

ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประเทศต่างๆ ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในแต่ละปี (ล้านตัน)
ที่มา : World Resources 2005
สหรัฐอเมริกา ๕,๗๖๒
จีน ๓,๔๗๔
รัสเซีย ๑,๕๔๐
ญี่ปุ่น ๑,๒๒๕
อินเดีย ๑,๐๐๘
อังกฤษ ๕๕๘
ออสเตรเลีย ๓๓๒
ไทย ๑๗๒
มาเลเซีย ๑๒๔
ลาว ๐.๔

ประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยที่สุด คนอเมริกันปล่อยก๊าซชนิดนี้ปีละ ๕,๗๖๒ ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๔ ของปริมาณก๊าซทั่วโลก ขณะที่อเมริกามีประชากรเพียงร้อยละ ๕ ของประชากรทั้งโลก ตามมาด้วยจีนที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกติดต่อกัน หลายปี ส่งผลให้จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศปีละ ๓,๔๗๔ ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๕

ขณะที่คนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศปีละ ๑๗๒ ล้านตัน หรือคนละ ๒.๘ ตันต่อปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์

แต่หากคิดเป็นสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อประชากรแล้วจะพบว่า ประชากรในกลุ่มประเทศอาหรับ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ คูเวต ล้วนติดอันดับต้นๆ โดยปล่อยก๊าซชนิดนี้ถึงคนละ ๒๖ ตันต่อปี เพราะประเทศเหล่านี้มีประชากรน้อย แต่การผลิตน้ำมันซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ตามมาด้วยประชากรในประเทศทุนนิยมเต็มตัว ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ ๑๕-๒๐ ตันต่อปี

๕. ทุกวันนี้โลกร้อนขึ้นเพียงใด

ทุกวันนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกเพิ่มขึ้นประมาณ ๑ องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว โดยเฉพาะช่วงหลัง ค.ศ. ๑๙๘๐ อุณหภูมิของโลกได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ฟังดูเผินๆ อาจเข้าใจว่า โลกร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่อย่าลืมว่านั่นคืออุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของทั้งโลกในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ในความเป็นจริงแผ่นดินมักจะร้อนกว่าพื้นน้ำ กล่าวคือในขณะที่แผ่นดินซึ่งมีพื้นที่เพียงประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลกร้อนขึ้น ๓-๔ องศาเซลเซียส ทะเลซึ่งมีพื้นผิวมากกว่าแผ่นดินถึง ๔ เท่าอาจจะร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่การที่ทั้งโลกร้อนเพิ่มขึ้น ๑ องศาได้นั้น นั่นหมายความว่าแผ่นดินจะต้องร้อนเพิ่มขึ้นมากกว่าทะเลถึง ๔ เท่า และยังหมายถึงว่า อุณหภูมิระหว่างแผ่นดินกับพื้นน้ำที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น จะทำให้ลมที่พัดจากทะเลเข้าหาฝั่งอย่างลมมรสุมหรือลมประจำถิ่นอื่นๆ พัดรุนแรงขึ้น พายุหมุนจึงมีโอกาสเกิดได้บ่อยขึ้นด้วย

IPCC รายงานว่า ภายในสิ้นศตวรรษที่ ๒๑ หรืออีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า หากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกอาจจะเพิ่มขึ้นถึง ๖ องศาเซลเซียส คือเพิ่มในอัตราเร็วขึ้นถึง ๑๐ เท่าจากปัจจุบัน

๖. น้ำแข็งละลายมากน้อยเพียงใด

บนพื้นผิวโลก ดูเหมือนว่าการละลายของน้ำแข็งที่บริเวณขั้วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่า น้ำแข็งที่ปกคลุมผิวโลกนี้แบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ น้ำแข็งที่เกิดจากการแข็งตัวของน้ำทะเล (Sea ice) ได้แก่ บริเวณชายขอบของทวีปแอนตาร์กติกาในซีกโลกใต้ที่ยื่นต่อเนื่องไปจากแผ่นน้ำ แข็งในทวีป มีพื้นที่ประมาณ ๑๗-๒๐ ล้านตารางกิโลเมตรในฤดูหนาว และลดลงเหลือ ๓-๔ ล้านตารางกิโลเมตรในฤดูร้อน และแผ่นน้ำแข็ง (Ice sheets) ที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติกในขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่ประมาณ ๑๔-๑๖ ล้านตารางกิโลเมตรในฤดูหนาว และเมื่อฤดูร้อนมาเยือน น้ำแข็งจะค่อยๆ ละลายลงเหลือพื้นที่ประมาณ ๗-๙ ล้านตารางกิโลเมตร

อีกประเภทหนึ่งคือ พืดน้ำแข็งที่ปกคลุมผืนแผ่นดิน ซึ่งเกิดจากการทับถมกันของหิมะ อันได้แก่ ทวีปแอนตาร์กติกาในขั้วโลกใต้ ที่เกาะกรีนแลนด์ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และที่บริเวณธารน้ำแข็งบนยอดเขาสูงๆ รวมพื้นที่ประมาณ ๑๗ ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๐ % ของพื้นที่โลก ในจำนวนนี้อยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา ๑๕ ล้านตารางกิโลเมตร และบนเกาะกรีนแลนด์ ๑.๘ ล้านตารางกิโลเมตร

ที่น่าสนใจคือพืดน้ำแข็งที่ปกคลุมทวีปแอนตาร์กติกาหนาถึง ๓,๐๐๐ เมตร ขณะที่แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติกหนาประมาณ ๓ เมตร

และคนที่รู้เรื่องความหนาของน้ำแข็งขั้วโลกดีที่สุด หาใช่นักวิทยาศาสตร์ไม่ แต่เป็นกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

ในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปีก่อน เรือดำน้ำของสหรัฐฯ ต้องคอยลาดตระเวนใต้มหาสมุทรอาร์กติกเป็นประจำ และหากได้ข่าวว่ากองทัพโซเวียตเป็นฝ่ายโจมตีก่อน เรือดำน้ำเหล่านี้ก็พร้อมจะทะยานทะลุชั้นน้ำแข็งขึ้นมาเพื่อยิงขีปนาวุธตอบ โต้

การศึกษาและเก็บข้อมูลความหนาของน้ำแข็งจึงถือเป็นความลับของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

ในช่วงปลายปี ค.ศ. ๑๙๙๐ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาที่มักจะไปปฏิบัติการลับในขั้ว โลกเหนือ ได้เปิดเผยว่า แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือมีความหนาลดลงถึง ๔๐ % คือจากความหนาโดยเฉลี่ย ๓ เมตรในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ได้ละลายลงเหลือ ๒ เมตร ภายในเวลาเพียง ๓๐ ปี

ศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยการสำรวจขั้ว โลกเหนือด้วยดาวเทียมสำรวจขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ อเมริกาหรือนาซา พบว่าน้ำแข็งในบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม และอุณหภูมิก็สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดาวเทียมของนาซาได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ แสดงให้เห็นว่าฤดูใบไม้ร่วงอันเป็นช่วงน้ำแข็งละลายได้คืบคลานมาเร็วผิด ปรกติในแถบไซบีเรียเหนือและอะแลสกา

เท็ด สคัมโบส (Ted Scambos) จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดชี้ว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสัญญาณที่ระบุได้ชัดเจนก็คืออุณหภูมิบริเวณขั้วโลกเหนือเพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็วในรอบทศวรรษนี้

จากการตรวจวัดด้วยดาวเทียมพบว่า อุณหภูมิของขั้วโลกเหนือสูงขึ้นในอัตรา ๒.๕ องศาเซลเซียสใน ๑๐ ปี ซึ่งสูงกว่าในช่วง ๑๐๐ ปีก่อนหน้านั้นมาก ส่งผลให้ทุกๆ ๑๐ ปี น้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะหายไปประมาณ ๙ %

นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่า ในทศวรรษ ๒๐๘๐ บริเวณขั้วโลกเหนือและมหาสมุทรอาร์กติกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง ๑๐ องศาเซลเซียส ส่งผลให้ในฤดูร้อน น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือจะละลายไปจนหมดสิ้น รอจนอากาศเข้าสู่ความหนาวเย็นจึงจะมีน้ำแข็งมาปกคลุมบริเวณขั้วโลกเหนืออีก ครั้ง แต่ก็หายไปถึงครึ่งหนึ่ง

ขณะที่แบบจำลองด้านภูมิอากาศทำนายว่า หากการละลายของน้ำแข็งยังคงอัตราเช่นนี้ แนวโน้มที่จะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมขั้วโลกเหนือในฤดูร้อนอาจจะเกิดขึ้นภายใน ๒๕ ปีข้างหน้า

ลองมาสำรวจน้ำแข็งบริเวณอื่นกันบ้าง

ในปี ค.ศ. ๒๐๐๒ มีข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อแผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมาแผ่นหนึ่งในขั้วโลกใต้ ชื่อ ลาร์เซน-บี (Larsen-B) หนา ๒๐๐ เมตร มีพื้นที่ ๓,๒๕๐ ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ๒ เท่า ได้แตกออกจากทวีปแอนตาร์กติกา กลายเป็นภูเขาน้ำแข็งหลายก้อนลอยลงสู่ทะเล และส่วนใหญ่ละลายเป็นน้ำภายในไม่กี่วัน

นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ในรอบ ๓๐ ปีที่ผ่านมา มีก้อนน้ำแข็งแตกจากแผ่นดินลอยลงสู่มหาสมุทรคิดเป็นพื้นที่ถึง ๑๓,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร และในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิบริเวณขั้วโลกใต้สูงขึ้นราว ๒.๕ องศาเซลเซียส ทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้มีอัตราการละลายเพิ่มขึ้นเป็น ๑๕๐ ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี ส่งผลให้น้ำทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้น ๐.๔ มิลลิเมตรต่อปี

นึกออกไหมว่า ๑ ลูกบาศก์กิโลเมตรมีขนาดเท่าไร

๑ ลูกบาศก์กิโลเมตรมีค่าเท่ากับ ๑ พันล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลรวมกันเท่ากับ ๕ ลูกบาศก์กิโลเมตร ปัจจุบันในแต่ละปีน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเป็นน้ำในปริมาณ ๓๐ เท่าของน้ำในเขื่อนทั้งสองรวมกัน

ขณะเดียวกันที่เกาะกรีนแลนด์ เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีการละลายของน้ำแข็งปีละ ๕๐ ลูกบาศก์กิโลเมตร เป็นการละลายที่เพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่าในรอบ ๑๐ ปี และเนื่องจากเกาะกรีนแลนด์อยู่ต่ำกว่าขั้วโลกเหนือ อุณหภูมิจึงสูงกว่า นอกจากนี้มีการคำนวณว่า หากน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายหมด จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง ๗ เมตร

Science วารสารวิชาการชื่อดังของโลกทำนายว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เราอาจจะได้เห็นน้ำทะเลสูงขึ้นถึง ๖ เมตร เพราะความหายนะมักมาเยือนเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้มาก และหากน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนหมดสิ้น ประมาณว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราวๆ ๑๐๐ เมตร

ล่าสุดในที่ประชุมของ IPCC เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๗ ได้ทำนายว่า ในศตวรรษที่ ๒๑ อุณหภูมิจะสูงขึ้นประมาณ ๑.๑-๖.๔ องศาเซลเซียส มีผลทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะละลายหมดในฤดูร้อน ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบ ๖๐ เซนติเมตร น้ำทะเลจะคุกคามบริเวณชายฝั่งทั่วโลก ประชาชนในทวีปเอเชียเกือบ ๑๐๐ ล้านคนจะประสบปัญหาน้ำท่วมไร้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ พม่า ไทย เวียดนาม ไปจนถึงจีนและญี่ปุ่น

๗. จริงหรือไม่ที่น้ำแข็งละลายมากขึ้นเท่าใด น้ำทะเลยิ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น

ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าพื้นผิวของน้ำแข็งขั้วโลกทำหน้าที่สะท้อนรังสีความร้อน จากดวงอาทิตย์กลับสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึงร้อยละ ๙๐ ขณะที่น้ำในมหาสมุทรกลับดูดเอาความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ถึงร้อยละ ๙๐ เช่นกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งโลกมีพื้นผิวน้ำแข็งน้อยลงเท่าใด โลกก็ร้อนมากขึ้นเท่านั้น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายเร็ว เพราะเป็นเพียงแผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือมหาสมุทรอาร์กติก เมื่อพื้นที่น้ำแข็งลดลง การสะท้อนความร้อนสู่ชั้นบรรยากาศก็ลดลง ขณะที่น้ำทะเลกลับดูดซับความร้อนส่วนใหญ่เอาไว้ เมื่อน้ำทะเลอุ่น น้ำแข็งก็ยิ่งละลายเร็วขึ้น และเมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้น น้ำทะเลก็ยิ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นเช่นกัน

๘. น้ำแข็งเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำจืดที่เราใช้จริงหรือ

คำตอบก็คือ ร้อยละ ๗๕ ของแหล่งน้ำจืดที่เราใช้สะสมอยู่ในรูปของน้ำแข็ง

เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น

เพราะว่าธารน้ำแข็งบนยอดเขาหลายแห่งทั่วโลกเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสาย

ดังที่ ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวไว้ว่า น้ำแข็งมีความสำคัญกับระบบนิเวศวิทยาอย่างมาก โดยทำหน้าที่คล้าย “ป่า” ในเขตหนาว

หากว่าป่าเปรียบเสมือนฟองน้ำที่คอยอุ้มน้ำ แล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำออกมา “น้ำแข็ง” ก็เป็นเสมือนฟองน้ำที่ชะลอการไหลบ่าของกระแสน้ำด้วยความเย็นจนกลายเป็นน้ำ แข็ง และเมื่อถึงฤดูร้อน น้ำแข็งก็ละลายเป็นน้ำไหลไปรวมเป็นลำธารและแม่น้ำสายต่างๆ หล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลก

ขนาดของธารน้ำแข็งจะมีการขยายและหดตัวตามฤดูเป็นวัฏจักรธรรมชาติ โดยปรกติธารน้ำแข็งบนภูเขาจะละลายลงในฤดูร้อนในอัตราที่สมดุลกับการเกิดทด แทนของหิมะในฤดูหนาว ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาตามแม่น้ำจึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำแข็งที่มีการสะสมไว้ใน ฤดูหนาว ดังนั้นการที่น้ำต้นทุนบนยอดเขาจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่าหิมะที่ตก ในฤดูหนาวมีสะสมมากหรือน้อย หากในอนาคต ฤดูหนาวมีระยะสั้นลง หิมะก็อาจจะตกน้อยลง น้ำแข็งที่สะสมบนยอดเขาก็น้อยลงไปด้วย ส่งผลให้น้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน้อยลงไปตามกัน

น้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญ ๘ สาย ได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำคงคา แม่น้ำสินธุ แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำเหลือง แหล่งน้ำจืดสำคัญที่หล่อเลี้ยงประชากรกว่า ๒,๐๐๐ ล้านคนในทวีปเอเชีย

ประมาณกันว่ามีน้ำจืดกักเก็บอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยในรูปของน้ำแข็ง ๑๒,๐๐๐ ลบ. กม. แต่ทุกวันนี้ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยมีการละลายอย่างรวดเร็ว เช่นธารน้ำแข็งแห่งหนึ่งบนเทือกเขาหิมาลัย ชื่อ Gangotri นักวิทยาศาสตร์พบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๔๒-๑๙๓๕ ธารน้ำแข็งนี้ได้ละลายหายไปหรือหดสั้นลงเฉลี่ยปีละ ๗.๓ เมตร ทว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๕-๒๐๐๑ ธารน้ำแข็งนี้ได้ละลายหายไปเฉลี่ยถึงปีละ ๒๓ เมตร

หากอัตราการละลายยังเป็นเช่นนี้อยู่ คาดกันว่าในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยที่มีอยู่ ๑๕,๐๐๐ กว่าแห่งจะละลายเกือบหมด

เช่นเดียวกับธารน้ำแข็งบนยอดเขาคิริมันจาโรได้ลดลงอย่างรวดเร็ว และกำลังส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำไนล์ แม่น้ำสายสำคัญที่สุดของชาวแอฟริกัน

ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับว่า ธารน้ำแข็งถาวรบนยอดเขาเกือบทุกแห่งทั่วโลก เช่นบนยอดเขาหิมาลัย ยอดเขาแอนดีส ยอดเขาคิริมันจาโร แม้แต่บนยอดเขาที่ปาปัวนิวกินี มีขนาดลดลงอย่างชัดเจนมากเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในช่วงเวลาเดียวกันที่ เคยมีผู้ถ่ายไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน ปรากฏการณ์นี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันว่าอุณหภูมิของโลกน่าจะสูงขึ้น จริง

และยังเป็นสัญญาณบอกว่า ภายใน ๕๐ ปีข้างหน้า ประชากรทั่วโลกจะเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

๙. ภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญอะไรบ้าง

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีรายงานว่า
เกิดพายุเฮอริเคนในตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก

นอกจากปัญหาการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแล้ว ภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุให้บางพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบหลายแห่งทั่วโลกลดลง เกิดความอดอยาก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติพบว่า ผลผลิตข้าวจะลดลงร้อยละ ๑๕ เมื่ออากาศร้อนขึ้น ๑ องศาเซลเซียส

ในทวีปแอฟริกา นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ น้ำในแม่น้ำต่างๆ จะมีปริมาณลดลงร้อยละ ๒๕ อันจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการประมง ผู้คนกว่า ๒๐ ล้านคนจะไม่มีอาหารพอเลี้ยงชีพ สัตว์ป่าหลายชนิดจะขาดแคลนแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และอาจส่งผลให้สัตว์ป่าในแอฟริกาตั้งแต่นกไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้อง สูญพันธุ์

ความแห้งแล้งยังก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงทั่วโลก ตั้งแต่ป่าในสหรัฐอเมริกา ป่าแอมะซอนในบราซิล ไปจนถึงป่าในออสเตรเลีย ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาเกิดไฟไหม้ป่าฝนเขตร้อนในประเทศอินโดนีเซียรุนแรงขึ้นทุกปี พื้นที่ป่าเสียหายถึง ๑๒ ล้าน ๕ แสนไร่ ขณะที่ฤดูร้อนปี ค.ศ. ๒๐๐๓ คลื่นความร้อนอย่างรุนแรงได้แผ่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๓๕,๐๐๐ คน

ภาวะโลกร้อนยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพายุหมุนในทะเลถี่ขึ้นและรุนแรง ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอริเคน ไซโคลน และพายุไต้ฝุ่น ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เมืองที่อยู่ตามชายฝั่งจะได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของพายุบ่อยครั้ง ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ พายุเฮอริเคนแคทรีนา (Katrina) ได้พัดถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างย่อยยับ มีผู้เสียชีวิตนับพันคน และในปีก่อนหน้านั้น พายุไต้ฝุ่นถึง ๑๐ ลูกได้พัดถล่มเกาะญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์ จากที่เคยทำสถิติปีละ ๗ ลูก เช่นเดียวกับพายุไซโคลนที่พัดถล่มประเทศออสเตรเลียอย่างรุนแรง ไม่แพ้ประเทศในแถบทะเลจีนใต้ที่มีพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าถล่มเกือบ ๒๐ ลูกในช่วงปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีเฉลี่ยปีละ ๑๐ ลูก

ภาวะโลกร้อนยังทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ตั้งแต่ประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย พม่า บังกลาเทศ จนถึงอินเดีย เช่นที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ในเดือนกรกฎาคม ๒๐๐๕ วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึงระดับ ๓๗ นิ้วภายใน ๒๔ ชั่วโมง

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีรายงานว่า
เกิดพายุเฮอริเคนในตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก

ผลกระทบสำคัญอีกประการคือ การระบาดของเชื้อโรคชนิดต่างๆ เนื่องจากแมลงหลายชนิดที่เป็นพาหะสำคัญของเชื้อโรคมีการกระจายพันธุ์ได้ดี ขึ้น อาทิ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้วงจรชีวิตของยุงมีระยะสั้นลง และยุงยังสามารถอพยพไปอยู่ในที่ที่เคยมีอากาศเย็นได้ ภูเขาหลายแห่งและพื้นที่ที่ไม่เคยมียุงมาก่อนกลับพบว่ามียุงแพร่กระจายเข้า ไป ส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์พบว่า ทุกวันนี้มีผู้ได้รับเชื้อมาลาเรียประมาณ ๕๐๐ ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่านับจากเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๐ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกา ขณะที่มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นถึงปีละ ๑๕ ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็ก และมีการคำนวณว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ๑ องศาเซลเซียส จะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงถึงร้อยละ ๔๗ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นครั้งแรกในเทือก เขาแอนดีส ประเทศชิลี ยังไม่นับรวมการระบาดของโรคอีกหลายชนิด อาทิ ไข้อหิวาต์ ไข้สมองอักเสบ ฯลฯ และการแพร่กระจายของแมลงศัตรูพืชที่เป็นต้นเหตุของการทำลายพืชผลการเกษตร ทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ในแต่ละปีประชากร ๑๖๐,๐๐๐ คนป่วยตายจากโรคที่มีผลมาจากภาวะโลกร้อน

อุตสาหกรรมประกันภัยก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ความเสียหายจากภัยพิบัติอันเป็นผล จากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง การกัดเซาะชายฝั่ง สูงถึง ๑๕ เท่า บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษได้คำนวณว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ ความเสียหายจากภาวะโลกร้อนจะมีมูลค่าสูงถึง ๓ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับประเทศในแถบทวีปเอเชีย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวทำรายได้สำคัญของประเทศจะได้รับความเสียหายมากที่สุด

๑๐. พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) สำคัญอย่างไร

ที่ประชุมใหญ่ของสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย จึงเป็นที่มาของอนุสัญญาพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมลงนามทั้งสิ้น ๑๘๖ ประเทศ โดยประเทศในภาคีภายใต้อนุสัญญาฯ แบ่งเป็น

Annex I : กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศพัฒนาแล้ว ๔๑ ประเทศ

Non-Annex I : กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ๑๔๕ ประเทศ (รวมประเทศไทยด้วย)

พิธีสารนี้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๕ โดยกลุ่มประเทศ Annex I จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้อยู่ในระดับต่ำกว่าปริมาณการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี ๑๙๙๐ โดยเฉลี่ยร้อยละ ๕ เป็นอย่างน้อย ให้ได้ภายในปี ๒๐๑๒ และต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึงร้อยละ ๗๕ ภายในปี ๒๐๕๐

แต่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ได้ปฏิเสธการลงนาม โดยรัฐบาลของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช อ้างว่าจะทำให้ชาวอเมริกันได้รับความเดือดร้อน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าตระกูลของประธานาธิบดีคนนี้ประกอบธุรกิจน้ำมัน จึงจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐอเมริกาที่ มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

๑๐ วิธีในการช่วยลดภาวะโลกร้อน
๑. ต้องยอมรับก่อนว่า สาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนมิได้มาจากประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศพัฒนาแล้ว เป็นหลัก แต่เราทุกคนบนพื้นผิวโลก รวมทั้งคนไทยด้วย ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้า การเดินทาง การขนส่ง การบริโภค การสร้างที่พักอาศัย การซื้อของ ล้วนมีส่วนสำคัญในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

๒. ประหยัดการใช้พลังงานทุกชนิด โดยเฉพาะไฟฟ้า เพราะเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้า คือ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ล้วนแต่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อภาวะเรือนกระจกทั้งสิ้น เลือกอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า เช่นเปลี่ยนมาใช้หลอดประหยัดพลังงาน เพราะหลอดไฟที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเปลี่ยนพลังงานเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นให้เป็นแสงสว่าง ส่วนพลังงานอีกร้อยละ ๙๐ สูญเสียไปในรูปของความร้อน และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อเลิกใช้งาน

๓. หลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อเป็นการประหยัดการใช้น้ำมัน ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการโดยสารเครื่องบิน ดังที่รายงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศแนะนำว่า ควรใช้บริการรถไฟสำหรับการเดินทางในระยะทางไม่เกิน ๖๔๐ กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเที่ยวบินลงได้ถึงร้อยละ ๔๕ และบรรดานักธุรกิจควรใช้ระบบการประชุมผ่านวิดีโอแทนการให้พนักงานขึ้น เครื่องบินไปร่วมการประชุม

๔. คิดก่อนจะซื้อสิ่งของ เพราะการผลิตและการขนส่งสินค้าเกือบทุกชนิดล้วนแต่ใช้พลังงานทั้งสิ้น ก่อนจะซื้ออะไรลองถามตัวเองว่าสิ่งนั้นจำเป็นเพียงใด หรือลองเปลี่ยนจากการซื้อของใหม่เป็นการซ่อมหรือใช้ของมือสองแทน

๕. ลดการกินทิ้งกินขว้าง เพราะเศษอาหารและของที่บูดเน่าเมื่อไปทับถมอยู่ที่กองขยะจะกลายเป็นแหล่ง ผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง

๖. บริโภคของที่ผลิตในประเทศ เพราะการซื้อสินค้าจากต่างประเทศย่อมต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่ง การกินอาหารท้องถิ่นจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า เช่นหันมากินปลาทูแทนปลาแซลมอน เพราะนอกจากราคาถูกและทำให้เงินทองไม่รั่วไหลออกนอกประเทศแล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

๗. พกขวดน้ำติดตัวไปด้วยระหว่างการเดินทาง ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวสิ้นเปลืองพลังงานในการผลิตมหาศาล แถมยังทำให้เกิดขยะล้นโลก และในการกำจัดขยะก็ต้องใช้พลังงานอีกต่างหาก

๘. หลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก เพราะการผลิตถุงพลาสติกใช้พลังงานอย่างมหาศาล ถ้าให้ดีนำถุงผ้าจากบ้านติดตัวไปด้วยเวลาซื้อของตามร้านค้า หากไม่จำเป็นควรบอกพนักงานขายว่าไม่เอาถุงพลาสติก เพราะเมื่อนำกลับบ้านแล้วคนส่วนใหญ่จะทิ้งลงถังขยะ ในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ถึงปีละ ๑ แสนล้านใบ

๙. ประหยัดการใช้กระดาษ อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษใช้พลังงานมากเป็นอันดับ ๔ ทั้งยังก่อมลพิษทางน้ำ เป็นต้นเหตุของการทำลายป่าไม้ซึ่งเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ สำคัญด้วย

๑๐. สนับสนุนการซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทที่มีส่วนในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ผลิตที่อยากมีส่วนในการปกป้องโลก และเลิกสนับสนุนสินค้าของบริษัทที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

Leave a Reply